ปี 2025 ธุรกิจคุณต้องเตรียมรับมือแค่ไหน? สรุปมาให้แล้วกับ 10 เทรนด์เทคโนโลยี จาก Gartner
"เคยจินตนาการถึงโลกอนาคตที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกด้านของชีวิตไหม?”
จากภาพยนตร์ไซไฟที่เคยดูเมื่อยังเป็นเด็ก กลายเป็นความจริงที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่แทรกซึมในทุกแง่มุมของชีวิต ตั้งแต่การสื่อสาร การทำงาน การเรียนรู้ ไปจนถึงการดำเนินธุรกิจ
เทคโนโลยีจึงไม่ต่างอะไรจาก ‘คลื่น’ ที่มีพลังมหาศาล หากเราเลือกที่จะหันหลังให้ ก็อาจถูกกระแสพัดกลืนไป แต่หากเราเข้าใจเทรนด์และพร้อมปรับตัว ก็จะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างชาญฉลาดและขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
การ์ทเนอร์ (Gartner) องค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี
ได้เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ (Strategic
Technology Trends) ในปี 2025 ที่น่าจับตามอง
ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ สังคม หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน
บทความนี้จะพาคุณไปอัปเดต 10 เทรนด์เทคโนโลยี ในปี 2025 ที่ผู้นำองค์กรต้องเตรียมปรับตัว เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
Table of Contents : เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้ตรงนี้เลย
กำหนดเส้นทางธุรกิจไปสู่อนาคต กับ 3 ธีมหลัก ที่ทุกธุรกิจต้องเตรียมรับมือ
เทรนด์เทคโนโลยีกำลังเข้ามากำหนดอนาคต แม้ว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่จริยธรรม (Ethical Responsible) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ เทรนด์ทั้ง 10 ในปี 2025 นั้น จึงแบ่งออกเป็น 3 ธีม ที่นอกจากจะทำให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมาพร้อมกับความท้าทายด้านต่าง ๆ ที่ CIO และผู้บริหารระดับสูงต้องเตรียมรับมือ
เทรนด์เทคโนโลยีทั้ง 10 ในปี 2025 แบ่งออกเป็น 3 ธีม ได้แก่
AI Imperatives and Risks: AI และความเสี่ยง
ธีมนี้ยังคงเน้นย้ำถึงปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่กำลังมีบทบาทในโลกปัจจุบัน แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จึงต้องมีการพัฒนาระบบการกำกับดูแล AI (AI Governance) รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับข้อมูลเท็จ (Disinformation Security)
New
Frontiers of Computing: ขอบเขตใหม่ของการประมวลผล
ธีมนี้พูดถึงเทคโนโลยีการคำนวณรูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประมวลผลข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computing) ที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายเท่า
Human-Machine Synergy: การผสานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร
ธีมนี้เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ เช่น การใช้หุ่นยนต์ร่วมทำงานกับมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ในการทำงาน หรือการใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของมนุษย์
Gartner Top 10 Strategic Technology Trends 2025
AI สร้างโอกาส แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง: องค์กรจะรับมืออย่างไร
Agentic AI: AI ที่ทำงานเองได้
AI กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดย Agentic AI
จะเป็น AI อัจฉริยะที่มีความสามารถในการตัดสินใจและดำเนินการต่าง ๆ
เพื่อบรรลุเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง เช่น วางแผน ตัดสินใจ และเรียนรู้จากประสบการณ์
เรียกว่าเป็น AI ที่ไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่ง แต่สามารถ ‘คิดเอง’ และ ‘ทำเอง’ ได้
ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของมนุษย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น การนำมาใช้ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
หรือในการให้บริการลูกค้าแบบอัตโนมัติ
โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2028 Agentic AI จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเรื่องงานประจำวันถึง 15% อย่างไรก็ตาม การพัฒนา AI Agentic ก็มาพร้อมกับความท้าทายในเรื่องของจริยธรรมและความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้ AI ทำงานนอกเหนือจากเจตนาของผู้สร้างและผู้ใช้งาน
AI Governance Platforms: แพลตฟอร์มกำกับดูแล AI
เพื่อให้การใช้งาน
AI เป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีแพลตฟอร์มกำกับดูแล
AI (AI Governance Platforms) ที่ครอบคลุมทางด้านกฎหมาย จริยธรรม และประสิทธิภาพในการทำงานของ AI
แพลตฟอร์มเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถติดตามและควบคุมการทำงานของ AI ได้อย่างใกล้ชิด และสร้างความมั่นใจว่า AI จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ขององค์กรและสังคม โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2028 องค์กรที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จะมีปัญหาจริยธรรมด้าน AI ลดลงถึง 40% แต่การกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกัน เนื่องจากการใช้ AI อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและอุตสาหกรรมก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
Disinformation Security: เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันข้อมูลเท็จ
ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือข่าวปลอมก็ถูกปะปนอยู่ด้วย เทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันข้อมูลเท็จ
(Disinformation Security) จะเข้ามามีบทบาทโดยใช้ AI และระบบตรวจจับเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูล เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2028 องค์กรกว่า 50% จะเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อตรวจสอบตัวตน ป้องกันการขโมยบัญชี และป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์ อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ต้องอาศัยการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง
Beyond Computing: โลกคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ที่กำลังบีบบังคับให้ทุกองค์กรต้องคิดใหม่หมด
Post-Quantum Cryptography (PQC): การเข้ารหัสหลังยุควอนตัม
Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2029 Quantum Computing กำลังก้าวเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ
เทคโนโลยีการเข้ารหัสที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันจึงไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เพราะ Quantum Computing มีความสามารถในการถอดรหัสข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น PQC จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยจะเป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูลที่ป้องกันการโจมตีจาก Quantum Computing เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กรให้ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม PQC ไม่สามารถนำมาใช้แทนอัลกอริทึมแบบเดิมได้ทั้งหมด แอปพลิเคชันที่เราใช้งานอยู่ปัจจุบันอาจมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ทำให้ต้องต้องมีการทดสอบ และเขียนโค้ดขึ้นใหม่
Ambient Invisible Intelligence: ปัญญาประดิษฐ์แบบแฝงตัว
เทรนด์นี้จะเป็นการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราอย่างกลมกลืน
ราวกับหน่วยสืบราชการลับที่มองไม่เห็น โดยจะเป็นเทคโนโลยีที่รวมการตรวจจับและการประมวลผลอัจฉริยะเข้ากับชีวิตประจำวัน
Gartner คาดว่าจะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายผ่านเซ็นเซอร์และแท็กที่มีต้นทุนต่ำจนถึงปี
2028
AI จะทำงานอยู่เบื้องหลังและคอยอำนวยความสะดวกให้กับเราโดยแทบไม่รู้ตัว
เช่น
ระบบสมาร์ทโฮมที่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้และปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ได้เอง
หรือระบบการจัดการโลจิสติกที่สามารถวางแผนเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การนำ AI
มาใช้ในรูปแบบนี้ก็มาพร้อมกับความท้าทายด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้งาน
Energy-efficient Computing: ระบบประมวลผลแบบประหยัดพลังงาน
ปริมาณการใช้พลังงานและปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา (Carbon Footprint) ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม IT (IT Services) และบริการทางการเงิน
(Financial Services) เทคโนโลยีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานขององค์กร และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผ่านการออกแบบโครงสร้างระบบ โค้ด และอัลกอริทึมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ยังมีข้อกังวลในเรื่องการอัปเกรดระบบคอมพิวเตอร์ให้ประหยัดพลังงาน
ที่อาจมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายเริ่มต้นสูง
Hybrid Computing: การคำนวณแบบผสมผสาน
แทนที่จะใช้คอมพิวเตอร์แบบเดิมเพียงอย่างเดียว
ระบบนี้จะดึงจุดเด่นของเทคโนโลยีต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน เช่น ซีพียู (CPUs) สำหรับคำนวณทั่วไป, จีพียู (GPUs)
สำหรับงานที่ต้องใช้กราฟิกหนัก ๆ, อุปกรณ์ปลายทาง
(Edge devices) สำหรับเก็บและประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น,
หรือแม้กระทั่งระบบคอมพิวเตอร์แบบใหม่ เช่น ระบบประสาทจำลอง (Neuromorphic),
ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum) และระบบคอมพิวเตอร์โฟโตนิกส์
(Photonic) เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและประมวลผลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการพัฒนาและใช้งาน
ผสานโลกจริงและโลกดิจิทัล: เทคโนโลยีเชื่อมโยงมนุษย์และเครื่องจักรเข้าด้วยกัน
Spatial Computing: โลกดิจิทัลที่จับต้องได้
Spatial Computing เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกดิจิทัลกับความจริงเข้าด้วยกัน
เพื่อมอบประสบการณ์ที่สมจริงให้กับผู้ใช้งาน เช่น การใช้ MR (Mixed Reality) และ AI
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านเกม การแพทย์ และอีคอมเมิร์ซ
(e-commerce)
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์ใหม่ ๆ อย่าง Apple Vision Pro และ Meta Quest 3 ยังเปิดโอกาสสำหรับรูปแบบธุรกิจใหม่ โดย Gartner คาดการณ์ว่า บริษัทใหญ่ อย่าง Nvidia และ Qualcomm ที่กำลังสร้าง Ecosystems ของเทคโนโลยีนี้ จะส่งผลให้ตลาด Spatial Computing เติบโตจากมูลค่า 1.1 แสนล้าน - 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2033 แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านราคา ขนาด และความซับซ้อนของอุปกรณ์แสดงผล รวมถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล
Polyfunctional Robots: หุ่นยนต์อเนกประสงค์
หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้หลากหลายรูปแบบ และสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้ทันที
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น
ในโรงงานและคลังสินค้า Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 มนุษย์ถึง 80% จะมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์อัจฉริยะทุกวัน ทั้งนี้ การกำหนดราคาของหุ่นยนต์ และฟังก์ชันมาตรฐานในการใช้งานยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
Neurological Interfaces: เทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถทางสมองของมนุษย์
เทคโนโลยีที่พัฒนาความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ ผ่านการอ่านและถอดรหัสกิจกรรมในสมอง
เพื่อพัฒนาทักษะของมนุษย์ ปรับปรุงความปลอดภัย เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และอาจช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้นานขึ้นด้วย
เช่น การเชื่อมต่อระหว่างสมองของมนุษย์กับเครื่องจักร (Bidirectional Brain-Machine Interfaces:
BBMIs) ทำให้เราสามารถควบคุมเครื่องจักรได้โดยตรงด้วยความคิด
หรือรับข้อมูลจากเครื่องจักรเข้าสู่สมองได้โดยตรง แต่ก็มาพร้อมข้อกังวลด้านความปลอดภัยและจริยธรรม ที่อาจเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้ใช้ต่อสิ่งที่พวกเขามองเห็นหรือสัมผัสในโลกจริง
Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 60% ของบุคลากรในสายงาน IT จะหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
สรุป
เทรนด์เทคโนโลยีในปี 2025 จาก Gartner สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นแค่เรื่องอนาคตไกลตัว แต่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกธุรกิจ ธุรกิจ สังคม หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของ AI, คอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ไปจนถึงความร่วมมือมนุษย์กับเครื่องจักร ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และสร้างนวัตกรรมยั่งยืน นับว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องเตรียมรับมือ เพื่อเสริมศักยภาพและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ยกระดับสู่องค์กรที่ยั่งยืนในระยะยาว