ESG คืออะไร? เจาะลึกความหมายสู่องค์กรที่ยั่งยืน

ESG แนวคิดการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืน

“The era of global warming has ended and the era of global boiling has arrived”

António Guterres • The UN Secretary General

​​

​ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับสภาวะโลกเดือด (Global Boiling) จากสาเหตุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น แนวคิด ESG ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกกำลังมุ่งสู่เทรนด์ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs 17 ประการภายในปี 2030

​ในภาคธุรกิจ องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว แนวคิด ESG จึงเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คอยย้ำเตือนว่า การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักบรรษัทภิบาล

​บทความนี้จะพาคุณเจาะลึกความหมายของ ESG ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรักษ์โลก แต่เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

Table of Contents : เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้ตรงนี้เลย

จาก Digital Transformation สู่ ESG Transition: วิกฤตสู่โอกาสสำหรับธุรกิจยุคใหม่

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Digital Transformation เป็นเทรนด์สำคัญของธุรกิจทั่วโลก เพราะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสใหม่ แต่ปัจจุบัน ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ทำให้ ESG กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับธุรกิจ


ESG ไม่ได้เข้ามาแทนที่ Digital Transformation แต่เป็นการต่อยอดและเสริมแกร่งธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการดำเนินงานด้าน ESG เช่น การใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน หรือใช้ IoT ในการติดตามและจัดการการใช้พลังงาน การผสานแนวคิดทั้งสองช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมและเติบโตอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ทั้งด้านธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ESG: คลื่นลูกใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังซัดสาดทั่วโลกและไทย

ทำไม ESG จึงกลายเป็นวาระเร่งด่วนของโลก


​ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับแนวคิด
ESG ด้วยเหตุผลหลายประการ


​ประการแรกมาจาก วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ตามรายงาน The Global Risks Report 2023 จาก World Economic Forum กล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญในระยะยาว ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจได้เห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก

​และจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องดูหนังอย่าง The Day After Tomorrow (2004) หรือ Don't Look Up (2021) เพื่อจินตนาการถึงความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญ แต่วันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเหล่านั้นอยู่ทุกวัน

Global risks ranked by severity over the short and long term

ความเสี่ยงทั่วโลกจัดอันดับตามความรุนแรงในระยะสั้นและระยะยาว

​ประการที่สอง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดแรงกดดันให้ธุรกิจต้องใส่ใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น

​ประการที่สาม ความต้องการธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร หลังจากเกิดเหตุอื้อฉาวทางการเงินและการทุจริตในหลายบริษัทใหญ่ นอกจากนี้ ผู้บริโภคและนักลงทุนรุ่นใหม่ต่างหันมาเริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และเรียกร้องให้ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่มีต่อโลกและสังคมมากขึ้น

ESG: จากกระแสโลกสู่แรงตื่นตัวในไทย


​สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ อย่างที่เราเห็นได้เห็นว่า
เชียงใหม่มีฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงเป็นอันดับ 1 โลก นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากคู่ค้าต่างประเทศที่ต้องการพันธมิตรที่ใส่ใจ ESG

​ในขณะที่ไทยกำลังตื่นตัวกับกระแส Sustainability แต่โลกกำลังก้าวไปสู่เทรนด์ 'Regeneration' ซึ่งไม่เพียงแต่รักษาสภาพปัจจุบัน แต่ยังมุ่งฟื้นฟูและสร้างสรรค์สิ่งใหม่

​ภาครัฐของไทยเองก็ได้เริ่มตอบสนองแนวโน้มนี้ด้วยการออกนโยบายสนับสนุน ESG อย่างจริงจัง เช่น โมเดลเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในรายงานประจำปี

​ภาคธุรกิจไทยจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ที่ไม่เพียงเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ยังต้อง Redesign ธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิด Regeneration โดยคำนึงถึงทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เจ้าของ สังคม ซัพพลายเออร์ นักลงทุน ผู้บริโภค คอมมูนิตี คู่แข่ง และพาร์ตเนอร์ การนำแนวคิด ESG มาปรับใช้จึงไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับธุรกิจไทยในการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

ESG คืออะไร? เจาะลึกความหมายที่ไม่ใช่แค่การรักษ์โลก

แล้ว ESG คืออะไร?


​ESG
ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกเหนือจากผลประกอบการทางการเงิน


E - Environment (สิ่งแวดล้อม)

​การพิจารณาผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ทรัพยากร การปล่อยมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์กรต้องรับผิดชอบลดผลกระทบเชิงลบและส่งเสริมการอนุรักษ์


S - Social (สังคม)

​เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับ Stakeholder ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ชุมชน และสังคมโดยรวม ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการทำงาน ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม


G - Governance (บรรษัทภิบาล)

​เน้นที่โครงสร้างและกระบวนการบริหารจัดการองค์กรที่โปร่งใส รับผิดชอบ และเป็นธรรม รวมถึงการกำหนดนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับ Stakeholder

​แนวคิด ESG ไม่ได้แยกส่วนกันอย่างชัดเจน แต่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลดีต่อสังคมและชุมชน ในขณะที่การมีธรรมาภิบาลที่ดีจะช่วยให้การดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไม ESG จึงมีความหมายมากกว่าแค่การรักษ์โลก


ESG ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรักษ์โลก แต่เป็นแนวคิดที่ครอบคลุมหลายมิติของการดำเนินธุรกิจ โดยช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ดึงดูดและรักษาพนักงาน บริหารความเสี่ยง และกระตุ้นนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังช่วยให้องค์กรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ Stakeholder และเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืนที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต

​การนำ ESG มาใช้ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือขององค์กร ESG จึงเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมและสมดุล นำไปสู่การสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับองค์กร Stakeholder และสังคมโดยรวม

ESG จึงเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ESG เกี่ยวข้องกับ SDGs อย่างไร

 
​SDGs (Sustainable Development Goals)
เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ที่ครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าภายในปี 2030

Sustainable Development Goals (SDGs)

โดย SDGs สามารถจัดกลุ่มเชื่อมโยงกันได้ใน 5 มิติ (5P) ได้แก่

  • People (มิติด้านสังคม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1-5 เน้นการขจัดความยากจน ความหิวโหย การมีสุขภาพที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ
  • Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 7-11 มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การมีงานที่มีคุณค่า และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6, 12-15 เกี่ยวกับการจัดการน้ำ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
  • Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 16 เน้นการส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ยุติธรรม และมีสถาบันที่เข้มแข็ง
  • Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา): ครอบคลุมเป้าหมายที่ 17 เน้นการสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

​กรอบแนวคิด SDGs และ ESG สอดรับกันในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ESG เป็นเครื่องมือที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs:

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (E) สอดคล้องกับมิติ Planet ของ SDGs
  • ด้านสังคม (S) สอดคล้องกับมิติ People และ Prosperity
  • ด้านการกำกับดูแล (G) สอดคล้องกับมิติ Peace และ Partnership

​ESG จึงเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางธุรกิจสู่ความยั่งยืน องค์กรที่มีคะแนน ESG สูงมักจะมีระบบบริหารจัดการที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น ทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้ดีกว่า ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน แต่ยังสร้างความมั่นใจให้กับ Stakeholder ทุกกลุ่ม อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันองค์กรให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDGs

BCG Model กลยุทธ์ขับเคลื่อน ESG สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

BCG Model คืออะไร?​​


​BCG Model
หรือ Bio-Circular-Green Economy เป็นวาระแห่งชาติของไทยที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG โดยเน้นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และนวัตกรรม เพื่อต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

BCG Model เป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย​

องค์ประกอบของ BCG Model

  • Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ): ใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ผสานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ โดยรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
  • Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน): ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอดวงจรชีวิต
  • Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว): มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ESG เกี่ยวข้องกับ BCG Model อย่างไร


​แม้ว่า
ESG และ BCG Model จะมีจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน แต่ทั้งสองแนวคิดต่างมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย BCG Model สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย ESG ดังนี้

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (E): BCG ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดของเสีย และรักษาสมดุลระบบนิเวศ
  • ด้านสังคม (S): ช่วยสร้างงานในท้องถิ่น ยกระดับรายได้เกษตรกร และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน
  • ด้านธรรมาภิบาล (G): ส่งเสริมการบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

​BCG Model ช่วยต่อยอดจุดแข็งของไทยในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย การสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากของเสียในฟาร์ม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูงจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เติบโตอย่างยั่งยืน กับ 7 Guidelines เริ่มต้นทำ ESG สำหรับ SME ที่กำลังมองหาอนาคต

​จากที่เราได้พูดคุยถึงประเด็น ESG กันมา จะเห็นได้ว่า การเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นสำหรับธุรกิจทุกขนาด รวมถึง SMEs ด้วย การนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และนี่คือ 7 Guidelines ที่จะช่วยให้ SME เริ่มต้นเส้นทาง ESG ได้อย่างมั่นใจ

​1. สำรวจและทบทวนแนวทางเดิม: ตรวจสอบนโยบายปัจจุบัน วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน และรับฟังความคิดเห็นจาก Stakeholder

​2. กำหนดเป้าหมาย ESG ที่ชัดเจนและวัดผลได้: ตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับค่านิยมและกลยุทธ์องค์กร

​3. พัฒนากลยุทธ์ ESG แบบองค์รวม: สร้างแผนงานครอบคลุมทุกด้าน กำหนดโครงการและตัวชี้วัด

​4. สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วม: ให้ความรู้ สื่อสารวิสัยทัศน์ และกำหนดผู้รับผิดชอบ

​5. ติดตามและรายงานความคืบหน้า: สร้างระบบติดตามที่โปร่งใส เปรียบเทียบกับ KPI และสื่อสารผล

​6. ประเมินและปรับปรุงต่อเนื่อง: ทบทวนกลยุทธ์ ติดตามแนวโน้ม และรับฟังข้อเสนอแนะ

​7. แลกเปลี่ยนความรู้: สร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำ Knowledge Management

​การนำ ESG มาปรับใช้ในธุรกิจ SMEs อาจดูเป็นความท้าทาย แต่ด้วยการเริ่มต้นทีละขั้นตอนและมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สามารถสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

สรุป

​ในยุคที่โลกเผชิญวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ESG จึงกลายเป็นวาระสำคัญระดับโลกและในไทย ซึ่งเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ลดความเสี่ยง และตอบสนองความคาดหวังของ Stakeholder ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยทุกธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถเริ่มต้นทำ ESG ตั้งแต่วันนี้ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ESG คืออะไร? เจาะลึกความหมายสู่องค์กรที่ยั่งยืน
Kittiya Thamma 23 สิงหาคม ค.ศ. 2024
แชร์โพสต์นี้
แท็ก
Loading...