เคล็ดลับประหยัดภาษี กับสิทธิ์ 'ลดหย่อนภาษี' ปี 2567 สำหรับบุคคลธรรมดา
ถึงเวลายื่นภาษีทีไร เชื่อว่าหลายคนต้องมานั่งปวดหัววางแผนภาษีทุกทีและมองหาวิธีลดหย่อนภาษีที่จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า บทความนี้เราจึงรวบรวมมาให้แล้วกับรายการลดหย่อนภาษีที่ควรรู้ พร้อมเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณใช้สิทธิ์ได้อย่างคุ้มค่า
Table of Contents : เลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่สนใจได้ตรงนี้เลย
รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567
ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
ลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ : 60,000 บาท
เป็นค่าลดหย่อนพื้นฐานที่ผู้มีเงินได้จะได้รับทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะโสดหรือสมรส หากยื่นภาษีทางออนไลน์ก็จะมีรายการลดหย่อนนี้ให้โดยอัตโนมัติ
ลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ : 60,000 บาท
ลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร : 60,000 บาท
ให้สิทธิ์ภรรยาผู้มีเงินได้ใช้ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
ลดหย่อนบุตร :
- บุตรคนแรก : 30,000 บาท
- บุตรคนที่สองและคนถัดไป (เกิดหลังปี พ.ศ. 2561) : 60,000 บาท
หากเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- อายุไม่เกิน 20 ปี
- อายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรมีเงินได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
ลดหย่อนเลี้ยงดูบิดามารดา (ทั้งของตนเองและคู่สมรส) : 30,000 บาทต่อคน
สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้สูงสุด 4 คน โดยบิดามารดาจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีเงินได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท และไม่สามารถใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้องได้
ลดหย่อนกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ : 60,000 บาทต่อคน
ผู้พิการต้องมีเงินได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท รวมถึงมีบัตรประจำตัวผู้พิการและหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพลภาพเป็นบิดามารดา บุตร หรือคู่สมรสของตนเอง สามารถใช้ใช้สิทธิลดหย่อนทั้งสองส่วนร่วมกันได้
ค่าลดหย่อนการออมและการลงทุน
- ประกันสังคม : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 9,000 บาท
- ประกันชีวิตทั่วไป : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 25,000 บาท (รวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท)
- ประกันสุขภาพของบิดามารดา : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) : ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท
- เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) : ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) : ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน : ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) : ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : ลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
ค่าลดหย่อนเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป : ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ : ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง : ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 10,000 บาท
ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
Easy e-Receipt 2567 : 50,000 บาท
ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 50,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567
ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 : 15,000 บาท
ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 15,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 พ.ย. 2567
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย : 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท
ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 : สุงสุด 100,000 บาท
ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้าน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (จำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกิน 1 หลัง สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท) เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 67 – 31 ธ.ค. 68
ค่าลดหย่อนสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ค่าซ่อมแซมบ้านน้ำท่วม : สูงสุด 100,000 บาท
ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 100,000 บาท ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 15 ธ.ค. 2567 โดยบ้านที่ได้รับความเสียหายต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการ ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ค่าซ่อมแซมรถน้ำท่วม : สูงสุด 30,000 บาท
ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุด 30,000 บาท ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 15 ธ.ค. 2567 โดยรถที่ได้รับความเสียหายต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการ ประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ยื่นภาษี 2568 ได้เมื่อไร ?
กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีแล้ว โดยจะเป็นการยื่นภาษีของปี 2567 สำหรับใครที่ชอบความสะดวก รวดเร็ว สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้เลยที่ 👉🏻
ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันนี้ - 8 เม.ย. 2568
ส่วนใครสะดวกยื่นแบบกระดาษ สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2568
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นภาษี
- ตรวจสอบเอกสารที่จำเป็น เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ)
- ตรวจสอบสิทธิ์ลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อให้ยื่นได้อย่างถูกต้อง เช่น ใบเสร็จรับเงินในการซื้อกองทุน ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์, หลักฐานการบริจาค, หนังสือรับรองดอกเบี้ยจากการกู้ยืมของทางธนาคาร
สรุป
การเสียภาษีเป็นหน้าที่สำคัญของประชาชนที่มีรายได้ แต่การวางแผนภาษีอย่างรอบคอบจะช่วยให้คุณสามารถช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้อย่างคุ้มค่า สำหรับปี 2567 รัฐบาลได้กำหนดรายการลดหย่อนภาษีหลายประเภท ครอบคลุมทั้งค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว การส่งเสริมการออมและการลงทุนผ่านกองทุนประเภทต่างๆ การสนับสนุนการทำประโยชน์เพื่อสังคมผ่านการบริจาค และยังมีมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Easy e-Receipt การท่องเที่ยวเมืองรอง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านการลดหย่อนค่าซ่อมแซมบ้านและรถยนต์ การใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายและได้รับประโยชน์สูงสุดจากนโยบายของภาครัฐ