สรุป 10 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2024 ที่น่าจับตามอง จาก Gartner

เปิดเทรนด์เทคโนโลยี 10 อันดับแรกจาก การ์ทเนอร์ (Gartner) ที่องค์กรต่าง ๆ ต่างตั้งตารอคอยในปี 2024 นี้

สรุป 10 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2024 ที่น่าจับตามอง จาก Gartner สำรวจอนาคตของนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ธุรกิจต้องรู้

​ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีทีมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปข้างหน้าตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหวาดหวั่นต่อความเปลี่ยนแปลงที่พร้อมจะเข้ามา disrupt การทำงานแบบเดิม ๆ ได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น การหันมาเตรียมพร้อมที่จะรับมือและเรียนรู้ที่จะประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจยิ่งกว่า

การ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก ได้เปิดเทคเทรนด์ 10 อันดับแรกที่องค์กรต่าง ๆ ต่างตั้งตารอคอยในปี 2024 นี้



Gartner 


​ท่ามกลางฉากหลังของ Gartner IT Symposium/Xpo บาร์ท วิลเลมเซ่น (Bart Willemsen) รองประธานฝ่ายวิจัยของ Gartner ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้นำไอทีในการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยี จะยังคงช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนและแรงกดดัน ซึ่งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต้องอาศัยความกล้าที่จะลงมือทำและเพิ่มความยืดหยุ่นในการตอบสนอง


​ในขณะที่ คริส ฮาวเวิร์ด (Chris Howard) รองประธานและหัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Gartner ได้กล่าวถึง ความท้าทายและเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ Generative AI และ AI ประเภทอื่น ๆ โดยเรียกร้องให้ผู้นำไอทีและผู้บริหาร ต้องประเมินผลกระทบและประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี


และนี่คือ 10 เทรนด์เทคโนโลยี ที่มาแรงในปี 2024 นี้

Gartner เทรนด์เทคโนโลยี ปี 2024

10 เทรนด์เทคโนโลยี ที่มาแรงในปี 2024

1. Democratized Generative AI


​ทุกคนจะสามารถเข้าถึง AI ได้มากขึ้น ด้วย Generative AI (GenAI) ที่ถูกพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ด้วยโมเดลจำลองที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ผสานเข้ากับการประมวลผลแบบคลาวด์ และโอเพ่นซอร์ส ทำให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถเข้าถึงโมเดลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น


​Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2026 องค์กรมากกว่า 80% จะหันมาใช้งาน GenAI มากขึ้น เทียบกับต้นปี 2023 ที่มีผู้ใช้งานน้อยกว่า 5% ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากมายทั้งจากภายในและภายนอกบริษัทได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้เกิดองค์ความรู้และทักษะในองค์กร และด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่จะช่วยให้การสนทนามีรูปแบบที่เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

2. AI Trust, Risk and Security Management (AI TRiSM)


​เมื่อผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง AI ได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยง และการรักษาความปลอดภัยของ AI (AI TRiSM) เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าหากไม่มีการควบคุมการใช้โมเดล AI อาจจะสร้างผลกระทบทางลบตามมาเกินกว่าที่จะควบคุมได้ ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยควบคุมให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด


​โดย Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2023 องค์กรที่ใช้มาตรฐาน AI TRiSM ในการควบคุมเทคโนโลยี AI เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการใช้ AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ จะทำให้ AI มีความฉลาดมากขึ้น เพราะสามารถกำจัดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ถูกกฎหมายออกไปได้ถึง 80% โดยการใช้ ModelOps (ชุดกฎเกณฑ์ที่กำหนดการใช้งาน AI), การปกป้องข้อมูลเชิงรุก, AI-Specific Security (มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาสำหรับระบบ AI), การมอนิเตอร์โมเดล AI และการควบคุมความเสี่ยงสำหรับอินพุตและเอาต์พุตไปยังโมเดลและแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการายอื่น

3. AI-Augmented Development


​การใช้เทคโนโลยี AI เช่น GenAI และ Machine Learning เข้ามาเพื่อช่วยวิศกรซอฟต์แวร์ (AI-assisted Software Engineering) ในการออกแบบ เขียนโค้ด และทดสอบแอปพลิเคชัน จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยให้ทีมพัฒนาตอบสนองความต้องการซอฟต์แวร์ทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นได้


​โดยเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ AI (AI-Infused Development Tools) เหล่านี้ จะช่วยให้วิศวกรซอฟต์แวร์ใช้เวลาเขียนโค้ดน้อยลง จึงสามารถใช้เวลาไปกับการวางแผนพัฒนาแอปพลิเคชันทางธุรกิจที่สำคัญมากกว่า

4. Intelligent Applications


​Gartner ให้คำจำกัดความของแอปพลิเคชันอัจฉริยะที่มีความชาญฉลาด (Intelligent Applications) ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มีความสามารถในการเรียนรู้และสามารถปรับตัวได้ด้วยตนเอง ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลายเคส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบอัตโนมัติได้ดียิ่งขึ้น


​ความฉลาดของมันเกิดจากการใช้งาน AI ต่าง ๆ เช่น Machine Learning, การเก็บข้อมูลเวกเตอร์และเชื่อมโยงข้อมูล จึงช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งพบว่า มีผู้บริหารระดับ CEO ถึง 26% ที่มีความต้องการใช้งานแอปพลิเคชันอัจฉริยะ และในปี 2023 Gartner เผยว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ เป็นความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายมากที่สุดให้กับองค์กร ซึ่งการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ให้ได้ นับว่าเป็นความท้าทายและเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของเหล่า CEO ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า AI จะมีเข้ามามีผลกระทบมากที่สุดต่ออุตสาหกรรมของพวกเขา

5. Augmented-Connected Workforce (ACWF)


​หนึ่งในกลยุทธ์ที่เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะทุกธุรกิจต่างมุ่งขยายและพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ACWF จะใช้ Intelligent Applications ร่วมกับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบุคลากร เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และสร้างแนวทางการทำงานที่จะช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของพวกเขา


​คาดว่าในปี 2027 Chief Information Officer (CIO) 25% จะมีการใช้ Augmented-Connected Workforce เพื่อลดเวลาการทำงานลงถึง 50%

6. Continuous Threat Exposure Management (CTEM)


การจัดการความเสี่ยงต่อความเสียหายอย่างต่อเนื่อง (Continuous Threat Exposure Management หรือ CTEM) เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรประเมินการเข้าถึง ความเสี่ยง และการใช้ประโยชน์ ทั้งจากสินทรัพย์ดิจิทัลและทรัพย์สินที่จับต้องได้ขององค์กรได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นช่องโหว่และภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้


​ภายในปี 2026 Gartner คาดการณ์ว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยอย่าง CTEM จะสามารถลดความเสียหายจากการละเมิดได้ถึง 2 ใน 3

7. Machine Customers


Machine Customers หรือ ‘คัสโตบอท’ (Custobots) เป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งมีสามารถในการเจรจาและซื้อสินค้าหรือบริการได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งภายในปี 2028 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อถึงกันกว่า 1.5 หมื่นล้านชิ้น และภายในปี 2030 การเติบโตของคัสโตบอทจะสามารถสร้างรายได้หลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจแซงหน้า Digital Commerce

8. Sustainable Technology


Sustainable Technology หรือเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน จะเข้ามาเป็นกรอบการทำงานของ Digital Solution เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและสิทธิมนุษยชนในระยะยาว เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่าง AI, Cryptocurrency, Internet of Things และ Cloud Computing ที่มีการใช้พลังงานและสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทำให้การใช้งานด้าน IT อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

9. Platform Engineering


​วิศวกรรมแพลตฟอร์ม (Platform Engineering) เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์กับการใช้งานแบบ self-service เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ รวมถึงสร้างมูลค่าทางธุรกิจ

10. Industry Cloud Platforms


​Industry Cloud Platforms (ICPs) หรือการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรม ภายในปี 2027 Gartner คาดการณ์ว่าองค์กรมากกว่า 70% จะมีการใช้ ICPs เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2025 ที่มีอัตราการใช้น้อยกว่า 15% โดย ICPs จะรวมบริการ SaaS, PaaS และ IaaS พื้นฐานเข้าด้วยกัน นำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ และจะสามารถปรับแต่งระบบคลาวด์ ให้เหมาะสมและตรงตามความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกันได้

​เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ทั้ง 10 ข้อของปีนี้ ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและโอกาสสำคัญสำหรับ CIO และผู้นำไอที ภายใน 36 เดือนข้างหน้า หรือ 3 ปี ต่อจากนี้นั่นเอง แม้ว่าเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกมากมายให้กับธุรกิจ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน เพื่อพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เรียบเรียงจากบทความ Gartner Identifies the Top 10 Strategic Technology Trends for 2024

สรุป 10 เทรนด์เทคโนโลยีปี 2024 ที่น่าจับตามอง จาก Gartner
Kittiya Thamma 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023
แชร์โพสต์นี้
Loading...